Oops! It appears that you have disabled your Javascript. In order for you to see this page as it is meant to appear, we ask that you please re-enable your Javascript!

ขั้นตอนการ “จดทะเบียนสมรส” กับชาวญี่ปุ่น

อ่านก่อนจ้า::::ก่อนอื่นต้องแจ้งให้ทราบก่อนว่า การเตรียมเอกสารเพื่อแต่งงานกับคนญี่ปุ่นในปัจจุบันนั้น มีความแตกต่างกันไปตามบุคคล อำเภอ เขตที่ไปจดแจ้ง ในบทความนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าลูกค้ามีข้อสงสัยด้านการเตรียมเอกสาร ให้คนญี่ปุ่น สอบถามไปยังอำเภอ/เขต ที่ท่านจะไปจดทะเบียนที่ญี่ปุ่น ว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เมื่อทราบว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้างแล้ว จึงส่งมาให้ทางเราแปลและรับรองกงสุลอีกครั้งนึง

ทางบริษัทไม่สามารถแจ้งได้ว่า ท่านจะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เมื่อท่านให้แฟนถามไปทางอำเภอที่ญี่ปุ่นแล้ว ท่านจะได้รับคำตอบที่ถูกต้องที่สุด และง่ายที่สุดด้วย 


การจดทะเบียนสมรสกับชาวญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1. กรณีที่ยื่นจดทะเบียนสมรสที่ประเทศไทยก่อน แล้วจากนั้นจึงแจ้งที่ประเทศที่ญี่ปุ่นในภายหลัง

2. จดทะเบียนสมรสที่ญี่ปุ่น ก่อน แล้วจากนั้นจึงแจ้งการสมรสนั้นที่ประเทศไทย

ในบทความนี้ จะพูดถึง “การจดทะเบียนสมรสที่ประเทศไทยก่อน แล้วจึงแจ้งประเทศญี่ปุ่นภายหลัง”

ขั้นตอนหลักๆเลย จะมีอยู่ 7 ขั้นตอน

  1. ไปขอ “หนังสือรับรองความเป็นโสด” หรือ ใบโสด ที่สถานทูตญี่ปุ่น
  2. นำ หนังสือรับรองความเป็นโสด ไปแปล
  3. เอาหนังสือรับรองความเป็นโสด ที่แปลเสร็จแล้ว ไปรับรองการแปลที่กงศุล
  4. ดำเนินการ จดทะเบียนสมรส (เมื่อจดแล้ว ก็จะได้รับ คร.2 และ คร.3 กลับมา)
  5. หากประสงค์จะเปลี่ยนนามสกุล ทำบัตรประชาชนใหม่ สามารถทำที่เขตได้เลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาอีกรอบ
  6. นำ คร.2 และ คร.3 / ทะเบียนสมรส  ไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น
  7. กลับไปสถานทูตญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อแจ้งเรื่อง การจดทะเบียนสมรส ให้ประเทศญี่ปุ่นทราบ 

รับแปลภาษาญี่ปุ่น แปลเอกสารเพื่อจดทะเบียนสมรสกับคนญี่ปุ่น แปลเอกสารราชการทุกชนิด

ขั้นตอนที่ 1 !!! หนังสือรับรองความเป็นโสด

เราไปจัดการเรื่อง “หนังสือรับรองความเป็นโสด”  ซึ่งเป็นเอกสารที่คู่สมรสชาวญี่ปุ่นของเราต้องมีกันก่อนเลย
หลักๆแล้ว ก็จะแบ่งเป็น เอกสารของคู่สมรสฝ่ายไทย กับ เอกสารของคู่สมรสฝ่ายญี่ปุ่น  ซึ่งเอกสารของคู่สมรสฝ่ายญี่ปุ่นนั้น จะต้องมี “หนังสือรับรองความเป็นโสด” หรือบางท่านก็เรียกว่า “ใบรับรองความเป็นโสด” อันนี้คือใบเดียวกัน ซึ่งก่อนจะได้ หนังสือรับรองความเป็นโสด มานั้น ทางสถานทูตญี่ปุ่นฯ ได้ให้ข้อกำหนดของเอกสารต่างๆที่เราจะต้องแสดงไว้ ดังนี้

เอกสารสำหรับคู่สมรสฝ่ายญี่ปุ่น

1. สำเนาทะเบียนครอบครัว (โคะโซกิโทฮ่ง) —-> 1 ฉบับ (โดยจะต้องออกภายใน 3 เดือนนับถึงวันที่มายื่น)

2. หลักฐานแสดงถิ่นที่อยู่ (จูมินเฮียว)          —–> 1 ฉบับ (โดยจะต้องออกภายใน 3 เดือนนับถึงวันที่มายื่น)

3. หนังสือรับรองการทำงาน (ไซโชคุโชเมโชะ) —> 1 ฉบับ (โดยจะต้องออกภายใน 3 เดือนนับถึงวันที่มายื่น)

  • หนังสือรับรองการทำงาน ที่พิมพ์เอง หรือออกจากบริษัทนั้น ต้องได้รับการประทับตรารับรองจากเจ้าหน้าที่ทะเบียนของสำนักงานทะเบียน (โคโชนินยะคุบะ) แล้วจึงนำไปประทับตรารับรองต่อที่ (ชิโฮโฮมุเคียวคุ)
  • บุคคลที่ไม่ได้ทำงาน ไม่จำเป็นต้องใช้

4. หนังสือรับรองรายได้ (โชะโทคุโชเมโซ)  —-> 1 ฉบับ  (โดยจะต้องออกภายใน 3 เดือนนับถึงวันที่มายื่น)

  • หนังสือรับรองรายได้ ต้องได้ประทับตรารับรอง จาก (โคโชนินยะคุบะ) และ (ชิโฮโฮมุเคียวคุ) เหมือนกับข้อ 3 ด้วย
  • บุคคลที่ไม่ได้ทำงาน ไม่จำเป็นต้องใช้

5. หนังสือเดินทาง —–> ต้องใช้ตัวจริง และสำเนาหน้ารายละเอียด 1 ฉบับ

6. ใบคำร้องในการขอหนังสือรับรอง —-> 1 ฉบับ  (โดยจะต้องกรอกด้วย ภาษาญี่ปุ่น หรือ ภาษาอังกฤษ เท่านั้น)

  • ใบคำร้องนี้ สามารถขอได้จากเค้าเตอร์สถานทูตญี่ปุ่นฯ ครับ

7. แบบสอบถามเพื่อพิมพ์ หนังสือปฏิญาณคุณสมบัติในการสมรส

  • อันนี้ก็คือ จะมีแบบสอบถามให้เรากรอก รายละเอียดต่างๆลงไป เนื้อหาก็ประมาณว่า แต่งงานแล้วจะอยู่ที่ไหน เคยแต่งงานมาหรือยัง ฯลฯ แล้วทางฝ่ายสถานทูตก็จะนำข้อมูลที่เราใส่ไว้ ไปพิมพ์ลงในหนังสือปฏิญาณคุณสมบัติในการสมรส

8. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีให้ผู้อื่นมายื่นเอกสารแทน) —> 1 ฉบับ

เอกสารสำหรับคู่สมรสฝ่ายไทย

1. บัตรประจำตัวประชาชน  —-> ตัวจริง และสำเนา 1 ฉบับ

2. ทะเบียนบ้าน                 ——> ตัวจริง และสำเนา 1 ชุด

3. หนังสือเดินทาง           ——> ตัวจริง และสำเนา 1 ชุด  (ถ้าไม่มี ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ครับ)

4. เอกสารดังต่อไปนี้

  • กรณีเคยสมรสมาก่อน —- ต้องใช้ใบสำคัญการหย่า (ตัวจริง+สำเนา 1 ฉบับ)
  • กรณีเคยเปลี่ยนชื่อ นามสกุล — ใบเปลี่ยนชื่อ  (ตัวจริง + สำเนา 1 ฉบับ)
  • กรณีมีบุตร โดยไม่ได้สมรส — ใบสูติบัตรของเด็ก (ตัวจริง + สำเนา 1 ฉบับ)

โดยปกติแล้วเอกสารของฝ่ายไทยจะมีอยู่เท่านี้  เพราะใช้เอกสารตามที่ ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยเราได้ระบุไว้  ส่วนอื่นๆ ก็ต้องพิจารณากฏหมายไทยประกอบด้วยนะครับ เช่น หย่าเกิน 310 วันหรือยัง (ในกรณีเคยแต่งงาน) หรือว่าอายุครบ 17 ปีแล้วหรือยัง ฯลฯ

เมื่อเราจัดเตรียมเอกสารต่างๆข้างต้น ไว้ครบทั้งหมดแล้ว ให้นำไปยื่นต่อ “แผนกหนังสือรับรอง หนังสือเดินทาง ฝ่ายกงศุล สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย”   ทีนี้ เราก็จะได้ หนังสือรับรองความเป็นโสด และ หนังสือปฏิญาณคุณสมบัติในการสมรส มาอยู่ในครอบครองเป็นที่เรียบร้อย

ขั้นตอนที่ 2+3  แปลและนำ หนังสือรับรองโสด ไปรับรองที่กงศุล

เมื่อเราได้รับ หนังสือรับรองความเป็นโสด (ฉบับภาษาอังกฤษ) และ หนังสือปฏิญาณคุณสมบัติในการสมรส (ฉบับภาษาอังกฤษ)มาแล้ว เราก็นำไปแปลเป็นภาษาไทย  จากนั้นก็นำฉบับแปล ไปรับรองที่ “กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศไทย”  โดยการนำไปรับรองที่กงศุลนั้น จะมีแบบเร่งด่วน และแบบธรรมดา

ขั้นตอนที่ 4  ได้เวลาจดทะเบียนสมรสแล้วจ้า ♥♥

เมื่อได้ รับรองหนังสือรับรองความเป็นโสด (ฉบับแปลไทย) และ หนังสือปฏิญาณคุณสมบัติในการสมรส (ฉบับแปลไทย) มาแล้ว ก็ได้เวลาไปจดทะเบียนสมรสกันสักที การจดทะเบียนสมรส จะจดทะเบียนสมรสที่เขตไหนก็ได้ แต่ที่สำคัญเลยก็คือ เราจะต้องมีพยานไปเขตด้วย 2 คน เพื่อเซ็นเป็นพยานในการจดทะเบียนสมรสของเราด้วย (เท่าที่ทราบมา เขตบางรัก  จะค่อนข้างอะลุ่มอล่วย โดยให้ทางเจ้าหน้าที่เขต มาเป็นพยานให้แทน ในกรณีที่เราไม่มีพยานไปด้วย )

เอกสารที่จะต้องใช้ในการ จดทะเบียนสมรสที่เขต

1. ฝ่ายคู่สมรสชาวไทย ต้องใช้  ทะเบียนบ้าน (ตัวจริง + สำเนา 2 ชุด) / บัตรประชาชน (ตัวจริง + สำเนา 2 ชุด)  ที่สำคัญก็คือ ในกรณีที่เรา เคยเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ก็ต้องมีเอกสารนั้นๆ + สำเนาไปด้วย

2. ฝ่ายคู่สมรสชาวญี่ปุ่น ก็จะต้องมี หนังสือรับรองความเป็นโสด (ต้นฉบับ + ฉบับแปล ตัวจริง + สำเนา 2 ชุด) / หนังสือเดินทาง พาสปอร์ต (ตัวจริง + สำเนา 2 ชุด)

3. พยาน ต้องใช้ บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง + สำเนา 2 ชุด)

จากนั้นก็ดำเนินการตามเจ้าหน้าที่ไป จนเสร็จ เราก็จะได้  ใบสําคัญการสมรส (คร.3) มาไว้ในครอบครองเป็นที่เรียบร้อย

ขั้นตอนที่ 5  เปลี่ยนนามสกุลดีไหม?

ไหนๆก็มาเขต พร้อมกันทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว และเอกสารทั้งหมดก็พร้อมหมดแล้วด้วย ดังนั้นถ้าคิดจะเปลี่ยนนามสกุลไปใช้ตามฝ่ายเจ้าบ่าวล่ะก็  ก็สามารถดำเนินการที่เขตได้ในทันที

และเมื่อเปลี่ยนนามสกุลแล้ว ก็ทำบัตรประชาชนไปพร้อมกันเลยทีเดียว ในส่วนขั้นตอนนี้ก็จะจบแค่นี้

ขั้นตอนที่ 6  แปล ใบทะเบียนสมรส (คร.2) และก็ ใบสำคัญการสมรส (คร.3) เป็นภาษาญี่ปุ่น

ขั้นตอนนี้ เราสามารถเลือกแจ้งการจดทะเบียนสมรสได้ 2 กรณีคือ

  • แจ้งที่ ประเทศไทย ซึ่งก็คือ สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
  • แจ้งที่ ประเทศญี่ปุ่น ก็คือ สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น

ขั้นตอนที่ 7 แจ้งการสมรส ต่อสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

การเตรียมเอกสาร

  1. ใบคำร้องขอจดทะเบียนสมรส 2 ฉบับ
  2. สำเนาทะเบียนครอบครัว (โคะเซกิโทฮ่ง) ของคู่สมรสฝ่ายญี่ปุ่น 2 ฉบับ
  3. คู่สมรสฝ่ายไทย ต้องใช้เอกสาร 2 อย่างก็คือ ทะเบียนบ้าน และใบสำคัญการสมรส (คร.3)

เน้นย้ำ การเตรียมเอกสารเพื่อแต่งงานกับคนญี่ปุ่นในปัจจุบันนั้น มีความแตกต่างกันไปตามบุคคล อำเภอ เขตที่ไปจดแจ้ง กรณีท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเตรียมเอกสาร โปรดสอบถามไปยังสถานทูตญี่ปุ่น หรือให้แฟนชาวญี่ปุ่น ถามไปยังเขต/อำเภอ

ขอความกรุณา อย่าโทรมาสอบถามทางบริษัทในเรื่องการเตรียมเอกสาร ทางเจ้าหน้าที่จะให้บริการเฉพาะการเสนอราคาค่าแปลเอกสาร และแปลเอกสารเท่านั้น กรณีมีข้อสงสัยการเตรียมเอกสาร กรุณาสอบถามไปยังสถานทูตญี่ปุ่น หรือเขต/อำเภอที่ท่านจะไปจดทะเบียน