อ่านก่อนจ้า::::ก่อนอื่นต้องแจ้งให้ทราบก่อนว่า การเตรียมเอกสารเพื่อแต่งงานกับคนญี่ปุ่นในปัจจุบันนั้น มีความแตกต่างกันไปตามบุคคล อำเภอ เขตที่ไปจดแจ้ง ในบทความนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าลูกค้ามีข้อสงสัยด้านการเตรียมเอกสาร ให้คนญี่ปุ่น สอบถามไปยังอำเภอ/เขต ที่ท่านจะไปจดทะเบียนที่ญี่ปุ่น ว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เมื่อทราบว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้างแล้ว จึงส่งมาให้ทางเราแปลและรับรองกงสุลอีกครั้งนึง
ทางบริษัทไม่สามารถแจ้งได้ว่า ท่านจะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เมื่อท่านให้แฟนถามไปทางอำเภอที่ญี่ปุ่นแล้ว ท่านจะได้รับคำตอบที่ถูกต้องที่สุด และง่ายที่สุดด้วย
การจดทะเบียนสมรสกับชาวญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. กรณีที่ยื่นจดทะเบียนสมรสที่ประเทศไทยก่อน แล้วจากนั้นจึงแจ้งที่ประเทศที่ญี่ปุ่นในภายหลัง
2. จดทะเบียนสมรสที่ญี่ปุ่น ก่อน แล้วจากนั้นจึงแจ้งการสมรสนั้นที่ประเทศไทย
ในบทความนี้ จะพูดถึง “การจดทะเบียนสมรสที่ประเทศไทยก่อน แล้วจึงแจ้งประเทศญี่ปุ่นภายหลัง”
ขั้นตอนหลักๆเลย จะมีอยู่ 7 ขั้นตอน
- ไปขอ “หนังสือรับรองความเป็นโสด” หรือ ใบโสด ที่สถานทูตญี่ปุ่น
- นำ หนังสือรับรองความเป็นโสด ไปแปล
- เอาหนังสือรับรองความเป็นโสด ที่แปลเสร็จแล้ว ไปรับรองการแปลที่กงศุล
- ดำเนินการ จดทะเบียนสมรส (เมื่อจดแล้ว ก็จะได้รับ คร.2 และ คร.3 กลับมา)
- หากประสงค์จะเปลี่ยนนามสกุล ทำบัตรประชาชนใหม่ สามารถทำที่เขตได้เลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาอีกรอบ
- นำ คร.2 และ คร.3 / ทะเบียนสมรส ไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น
- กลับไปสถานทูตญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อแจ้งเรื่อง การจดทะเบียนสมรส ให้ประเทศญี่ปุ่นทราบ
รับแปลภาษาญี่ปุ่น แปลเอกสารเพื่อจดทะเบียนสมรสกับคนญี่ปุ่น แปลเอกสารราชการทุกชนิด
ขั้นตอนที่ 1 !!! หนังสือรับรองความเป็นโสด
เราไปจัดการเรื่อง “หนังสือรับรองความเป็นโสด” ซึ่งเป็นเอกสารที่คู่สมรสชาวญี่ปุ่นของเราต้องมีกันก่อนเลย
หลักๆแล้ว ก็จะแบ่งเป็น เอกสารของคู่สมรสฝ่ายไทย กับ เอกสารของคู่สมรสฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งเอกสารของคู่สมรสฝ่ายญี่ปุ่นนั้น จะต้องมี “หนังสือรับรองความเป็นโสด” หรือบางท่านก็เรียกว่า “ใบรับรองความเป็นโสด” อันนี้คือใบเดียวกัน ซึ่งก่อนจะได้ หนังสือรับรองความเป็นโสด มานั้น ทางสถานทูตญี่ปุ่นฯ ได้ให้ข้อกำหนดของเอกสารต่างๆที่เราจะต้องแสดงไว้ ดังนี้
เอกสารสำหรับคู่สมรสฝ่ายญี่ปุ่น
1. สำเนาทะเบียนครอบครัว (โคะโซกิโทฮ่ง) —-> 1 ฉบับ (โดยจะต้องออกภายใน 3 เดือนนับถึงวันที่มายื่น)
2. หลักฐานแสดงถิ่นที่อยู่ (จูมินเฮียว) —–> 1 ฉบับ (โดยจะต้องออกภายใน 3 เดือนนับถึงวันที่มายื่น)
3. หนังสือรับรองการทำงาน (ไซโชคุโชเมโชะ) —> 1 ฉบับ (โดยจะต้องออกภายใน 3 เดือนนับถึงวันที่มายื่น)
- หนังสือรับรองการทำงาน ที่พิมพ์เอง หรือออกจากบริษัทนั้น ต้องได้รับการประทับตรารับรองจากเจ้าหน้าที่ทะเบียนของสำนักงานทะเบียน (โคโชนินยะคุบะ) แล้วจึงนำไปประทับตรารับรองต่อที่ (ชิโฮโฮมุเคียวคุ)
- บุคคลที่ไม่ได้ทำงาน ไม่จำเป็นต้องใช้
4. หนังสือรับรองรายได้ (โชะโทคุโชเมโซ) —-> 1 ฉบับ (โดยจะต้องออกภายใน 3 เดือนนับถึงวันที่มายื่น)
- หนังสือรับรองรายได้ ต้องได้ประทับตรารับรอง จาก (โคโชนินยะคุบะ) และ (ชิโฮโฮมุเคียวคุ) เหมือนกับข้อ 3 ด้วย
- บุคคลที่ไม่ได้ทำงาน ไม่จำเป็นต้องใช้
5. หนังสือเดินทาง —–> ต้องใช้ตัวจริง และสำเนาหน้ารายละเอียด 1 ฉบับ
6. ใบคำร้องในการขอหนังสือรับรอง —-> 1 ฉบับ (โดยจะต้องกรอกด้วย ภาษาญี่ปุ่น หรือ ภาษาอังกฤษ เท่านั้น)
- ใบคำร้องนี้ สามารถขอได้จากเค้าเตอร์สถานทูตญี่ปุ่นฯ ครับ
7. แบบสอบถามเพื่อพิมพ์ หนังสือปฏิญาณคุณสมบัติในการสมรส
- อันนี้ก็คือ จะมีแบบสอบถามให้เรากรอก รายละเอียดต่างๆลงไป เนื้อหาก็ประมาณว่า แต่งงานแล้วจะอยู่ที่ไหน เคยแต่งงานมาหรือยัง ฯลฯ แล้วทางฝ่ายสถานทูตก็จะนำข้อมูลที่เราใส่ไว้ ไปพิมพ์ลงในหนังสือปฏิญาณคุณสมบัติในการสมรส
8. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีให้ผู้อื่นมายื่นเอกสารแทน) —> 1 ฉบับ
เอกสารสำหรับคู่สมรสฝ่ายไทย
1. บัตรประจำตัวประชาชน —-> ตัวจริง และสำเนา 1 ฉบับ
2. ทะเบียนบ้าน ——> ตัวจริง และสำเนา 1 ชุด
3. หนังสือเดินทาง ——> ตัวจริง และสำเนา 1 ชุด (ถ้าไม่มี ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ครับ)
4. เอกสารดังต่อไปนี้
- กรณีเคยสมรสมาก่อน —- ต้องใช้ใบสำคัญการหย่า (ตัวจริง+สำเนา 1 ฉบับ)
- กรณีเคยเปลี่ยนชื่อ นามสกุล — ใบเปลี่ยนชื่อ (ตัวจริง + สำเนา 1 ฉบับ)
- กรณีมีบุตร โดยไม่ได้สมรส — ใบสูติบัตรของเด็ก (ตัวจริง + สำเนา 1 ฉบับ)
โดยปกติแล้วเอกสารของฝ่ายไทยจะมีอยู่เท่านี้ เพราะใช้เอกสารตามที่ ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยเราได้ระบุไว้ ส่วนอื่นๆ ก็ต้องพิจารณากฏหมายไทยประกอบด้วยนะครับ เช่น หย่าเกิน 310 วันหรือยัง (ในกรณีเคยแต่งงาน) หรือว่าอายุครบ 17 ปีแล้วหรือยัง ฯลฯ
เมื่อเราจัดเตรียมเอกสารต่างๆข้างต้น ไว้ครบทั้งหมดแล้ว ให้นำไปยื่นต่อ “แผนกหนังสือรับรอง หนังสือเดินทาง ฝ่ายกงศุล สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย” ทีนี้ เราก็จะได้ หนังสือรับรองความเป็นโสด และ หนังสือปฏิญาณคุณสมบัติในการสมรส มาอยู่ในครอบครองเป็นที่เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 2+3 แปลและนำ หนังสือรับรองโสด ไปรับรองที่กงศุล
เมื่อเราได้รับ หนังสือรับรองความเป็นโสด (ฉบับภาษาอังกฤษ) และ หนังสือปฏิญาณคุณสมบัติในการสมรส (ฉบับภาษาอังกฤษ)มาแล้ว เราก็นำไปแปลเป็นภาษาไทย จากนั้นก็นำฉบับแปล ไปรับรองที่ “กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศไทย” โดยการนำไปรับรองที่กงศุลนั้น จะมีแบบเร่งด่วน และแบบธรรมดา
ขั้นตอนที่ 4 ได้เวลาจดทะเบียนสมรสแล้วจ้า ♥♥
เมื่อได้ รับรองหนังสือรับรองความเป็นโสด (ฉบับแปลไทย) และ หนังสือปฏิญาณคุณสมบัติในการสมรส (ฉบับแปลไทย) มาแล้ว ก็ได้เวลาไปจดทะเบียนสมรสกันสักที การจดทะเบียนสมรส จะจดทะเบียนสมรสที่เขตไหนก็ได้ แต่ที่สำคัญเลยก็คือ เราจะต้องมีพยานไปเขตด้วย 2 คน เพื่อเซ็นเป็นพยานในการจดทะเบียนสมรสของเราด้วย (เท่าที่ทราบมา เขตบางรัก จะค่อนข้างอะลุ่มอล่วย โดยให้ทางเจ้าหน้าที่เขต มาเป็นพยานให้แทน ในกรณีที่เราไม่มีพยานไปด้วย )
เอกสารที่จะต้องใช้ในการ จดทะเบียนสมรสที่เขต
1. ฝ่ายคู่สมรสชาวไทย ต้องใช้ ทะเบียนบ้าน (ตัวจริง + สำเนา 2 ชุด) / บัตรประชาชน (ตัวจริง + สำเนา 2 ชุด) ที่สำคัญก็คือ ในกรณีที่เรา เคยเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ก็ต้องมีเอกสารนั้นๆ + สำเนาไปด้วย
2. ฝ่ายคู่สมรสชาวญี่ปุ่น ก็จะต้องมี หนังสือรับรองความเป็นโสด (ต้นฉบับ + ฉบับแปล ตัวจริง + สำเนา 2 ชุด) / หนังสือเดินทาง พาสปอร์ต (ตัวจริง + สำเนา 2 ชุด)
3. พยาน ต้องใช้ บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง + สำเนา 2 ชุด)
จากนั้นก็ดำเนินการตามเจ้าหน้าที่ไป จนเสร็จ เราก็จะได้ ใบสําคัญการสมรส (คร.3) มาไว้ในครอบครองเป็นที่เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 5 เปลี่ยนนามสกุลดีไหม?
ไหนๆก็มาเขต พร้อมกันทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว และเอกสารทั้งหมดก็พร้อมหมดแล้วด้วย ดังนั้นถ้าคิดจะเปลี่ยนนามสกุลไปใช้ตามฝ่ายเจ้าบ่าวล่ะก็ ก็สามารถดำเนินการที่เขตได้ในทันที
และเมื่อเปลี่ยนนามสกุลแล้ว ก็ทำบัตรประชาชนไปพร้อมกันเลยทีเดียว ในส่วนขั้นตอนนี้ก็จะจบแค่นี้
ขั้นตอนที่ 6 แปล ใบทะเบียนสมรส (คร.2) และก็ ใบสำคัญการสมรส (คร.3) เป็นภาษาญี่ปุ่น
ขั้นตอนนี้ เราสามารถเลือกแจ้งการจดทะเบียนสมรสได้ 2 กรณีคือ
- แจ้งที่ ประเทศไทย ซึ่งก็คือ สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
- แจ้งที่ ประเทศญี่ปุ่น ก็คือ สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น
ขั้นตอนที่ 7 แจ้งการสมรส ต่อสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
การเตรียมเอกสาร
- ใบคำร้องขอจดทะเบียนสมรส 2 ฉบับ
- สำเนาทะเบียนครอบครัว (โคะเซกิโทฮ่ง) ของคู่สมรสฝ่ายญี่ปุ่น 2 ฉบับ
- คู่สมรสฝ่ายไทย ต้องใช้เอกสาร 2 อย่างก็คือ ทะเบียนบ้าน และใบสำคัญการสมรส (คร.3)
เน้นย้ำ การเตรียมเอกสารเพื่อแต่งงานกับคนญี่ปุ่นในปัจจุบันนั้น มีความแตกต่างกันไปตามบุคคล อำเภอ เขตที่ไปจดแจ้ง กรณีท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเตรียมเอกสาร โปรดสอบถามไปยังสถานทูตญี่ปุ่น หรือให้แฟนชาวญี่ปุ่น ถามไปยังเขต/อำเภอ
ขอความกรุณา อย่าโทรมาสอบถามทางบริษัทในเรื่องการเตรียมเอกสาร ทางเจ้าหน้าที่จะให้บริการเฉพาะการเสนอราคาค่าแปลเอกสาร และแปลเอกสารเท่านั้น กรณีมีข้อสงสัยการเตรียมเอกสาร กรุณาสอบถามไปยังสถานทูตญี่ปุ่น หรือเขต/อำเภอที่ท่านจะไปจดทะเบียน